เชื่อว่านักกินหลายๆ ท่านต้องเคยได้ยินคำว่าไฟน์ไดนิ่ง (Fine Dining) แต่อาจจะยังไม่กระจ่างวิบวับในใจนักว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง ทำไมคนในแวดวงอาหารถึงเรียกกันแบบนี้ งั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา กระผมขอเสิร์ฟข้อมูลเกี่ยวกับไฟน์ไดนิ่งในแบบฉบับของยอดเชฟเทพนักปรุงกันเลยดีกว่า รับรองว่าอิ่มแบบจุกๆ แน่นอน ก็การันตีโดยยอดเชฟเทพนักปรุงนี่นา
ไฟน์ไดนิ่ง แค่ชื่อก็บอกแล้วว่ามื้อนี้ต้อง Fine ต้องดีเด่นกว่ามื้อไหนๆ ใช่แล้วล่ะ ความหมายก็ค่อนข้างตรงตัวอยู่ เพราะการรับประทานอาหารแบบไฟน์ไดนิ่งนั้นถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่เบื่อความจำเจกับอาหารในชีวิตประจำวัน และอยากหาประสบการณ์อันสุดแสนพิเศษในมื้ออาหารสักมื้อหนึ่ง ไฟน์ไดนิ่งจึงถือเป็นตัวเลือกที่ดีพร้อมสำหรับใครที่ชอบความสะดวกสบาย บรรยากาศดี มีเสียงดนตรีขับกล่อม มีพนักงานคอยเสิร์ฟอาหาร แนะนำไวน์ที่ไว้กินคู่กัน ในความคิดของคนทั่วไป ภัตตาคารใหญ่ๆ หรือห้องอาหารในโรงแรมชั้นนำจึงเข้าหมวดร้านอาหารแบบไฟน์ไดนิ่ง
แต่เอาดีๆ ในยุคนี้ที่ใครก็ลุกขึ้นมาเป็นมาสเตอร์เชฟได้นั้น ไฟน์ไดนิ่งไม่จำกัดแค่ภัตตาคารใหญ่ๆ หรือห้องอาหารในโรงแรมชั้นนำเท่านั้น หากว่าร้านอาหารทั่วไปที่มีความพร้อมในด้านการบริการ และมีอาหารที่ชวนว้าว! พูดแบบภาษาบ้านๆ คือถ้าสามารถนำเสนอประสบการณ์การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพดีๆ ได้ ก็จะเข้าคอนเซ็ปต์ไฟน์ไดนิ่งเหมือนกันนะเออ สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องราคาอาหาร หากเป็นแบบไฟน์ไดนิ่งก็จะมีราคาที่สูงกว่าร้านอาหารทั่วๆ ไป แต่เชื่อเถอะว่าสำหรับคนที่อยากได้รับประสบการณ์การรับประทานอันเลิศเรอแล้วล่ะก็ จะมองว่าราคาน่ะสมเหตุสมผล เพราะพวกเขาต่างก็คิดว่ามันคุ้มค่าแล้วล่ะกับเงินที่เสียไป ดีไม่ดีบางร้านอาจจะมีจุดขายด้วยการให้มาสเตอร์เชฟมาลงมือปรุงอาหารเลยนะ
ถ้าถามว่าอะไรที่บ่งบอกความเป็นไฟน์ไดนิ่งได้ดีที่สุดก็ต้องบอกว่าหยุด หยุดเลย ไม่ต้องคิดให้เสียเวลา เพราะหลักฐานนั้นชัดแจ้งอยู่แล้ว คืออันดับแรกอาหารต้องเลอเลิศ วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารต้องสดใหม่ มีการจัดจานสวยงามทั้งของคาวของหวาน รวมไปจนถึงเครื่องดื่มจะเป็นน้ำเปล่าน้ำอัดลมไม่ได้ ผิด! งานจิบไวน์ต้องมา งานรินแชมเปญต้องมี หรืออย่างน้อยก็ต้องน้ำแร่เอ้า! อันดับสอง บรรยากาศการตกแต่งของร้านต้องมีความหรูหรา เรียกได้ว่าดูแพงสมราคาที่เราจะต้องจ่าย และอันดับสุดท้ายก็คือพนักงานต้องมีความสุภาพ แต่งการสะอาดสะอ้าน ที่สำคัญการบริการต้องดีเยี่ยม สร้างความประทับใจ มีมาตรฐานตามหลักสากล
ดังที่กล่าวไป การเข้าร้านอาหารแบบไฟน์ไดนิ่ง อาหารที่ได้รับประทานต้องพิเศษยิ่งกว่าร้านทั่วๆ ไป การเสิร์ฟอาหารจึงมีการเรียงลำดับ บริกรจะนำอาหารมาเสิร์ฟทีละจานตามคอร์ส
โดยจะเริ่มที่อามูสบุช (Amuse Bouche) เพื่อเปิดลิ้น อามูสบุชมักจะโดดด้วยรสใดรสหนึ่งเพื่อกระตุ้นต่อมรับรส ขนาดจะแค่คำเล็กๆ ร้านอาหารหรูๆ จะเสิร์ฟให้ลูกค้าโดยไม่ต้องสั่ง ปล่อยให้เป็นหน้าที่เชฟได้เลย
จากนั้นจะตามมาด้วยแอพเพอไทเซอร์ (Appetizer) อาหารเรียกน้ำย่อย ถือเป็นส่วนหนึ่งของคอร์สอาหาร ในคอร์สสามารถมีแอพเพอไทเซอร์มากกว่าหนึ่งจานก็ย่อมได้ บางร้านจะแยกซุปหรือสลัดออกจากแอพเพอไทเซอร์ แต่บางร้านก็มัดรวมกันไปเลย
พอกินอาหารเรียกน้ำย่อยแล้วก็จะตามด้วยเมนดิช (Main Dish) อาหารจานหลักนั่นเอง ซึ่งเน้นใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบหลัก ไม่ว่าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีกอย่างนกพิราบ เป็ด ไก่ หรือแม้แต่อาหารทะเล
ปิดท้ายด้วยของหวาน (Dessert) และเช่นเดียวกัน บางคอร์สก็จะเสิร์ฟของหวานมากกว่าหนึ่งรายการ กินกันให้น้ำตาลในเลือดขึ้นพรวดๆ ไปเลย หรือไม่บริกรก็จะกางรายการของหวานประจำวันให้ลูกค้าได้เลือกว่าอยากปิดท้ายด้วยความหวานสไตล์ไหน
คอร์สอาหารแบบไฟน์ไดนิ่งอาจแตกต่างกันตามรูปแบบของร้านนั้นๆ แต่ที่เหมือนๆ กันนั่นคือลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การรับประทานอาหารสุดหรูยังไงล่ะ
ใครที่งบน้อย แต่อยากสัมผัสคอร์สอาหารแบบไฟน์ไดนิ่งผ่านตัวหนังสือ งั้นก็ต้องหยิบนิยายเกาหลีเรื่องดัง นิยายแปลเรื่องเด็ดจากเอ็นเธอร์บุ๊คส์ (Enter Books) อย่าง ‘ยอดเชฟเทพนักปรุง’ หรือ ‘God of Cooking’ มาอ่าน เพราะเนื้อหาในเล่มจะล้วงลึกเรื่องราวการทำอาหารอันหลากหลายรูปแบบ แทบทุกการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องอาหารนอกจากจะทำให้เราเห็นภาพตามแล้ว ยังชวนให้หิวได้ชะงัดนัก และตัวละครในเรื่องก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำอาหารสุดหรูแบบไฟน์ไดนิ่งด้วย อ่านแล้วเหมือนได้ไปกินไฟน์ไดนิ่งร้านหรูรอบโลกเลยล่ะ